สำโรง

Picture
ชื่อไทย                    สำโรง

ชื่ออื่น ๆ                   จำมะโฮง  มะโรง  มะโหรง  โหมโรง

ชื่อสามัญ                Bastard Poon , Pinari

ชื่อวิทยาศาสตร์     Sterculia  foetida  L.

วงศ์                          STERCULIACEAE

นิเวศวิทยา              ถิ่นกำเนิดเอเชียเขตร้อน   ประเทศไทยพบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณและป่าดิบ

การขยายพันธุ์     เมล็ด   
                                         
ลักษณะทั่วไป           เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่   สูง 20 - 30 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่กลมหรือรูปทรงกระบอก ทรงพุ่มโปร่งไม่ทึบ กิ่งก้านแตกแขนงในลักษณะตั้งฉากกับลำต้นแผ่กว้างออกไปรอบๆ ต้น  การแตกกิ่งก้านจะออกเป็นระยะ ๆ ทำให้เห็นทรงพุ่มเป็นชั้นๆคล้ายฉัตร แต่ละชั้นมีระยะห่างใกล้เคียงกัน ลำต้นเปลาตรง  สูงชะลูด  แตกกิ่งก้านที่ความสูงตั้งแต่ 8 - 10 เมตร โคนต้นเป็นพูพอนเล็กน้อย เนื้อไม้หยาบเป็นไม้เนื้ออ่อนค่อนข้างเหนียว
                                            
เปลือก       สีเทาอมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ ปรากฏร่องรอยแผลเป็นของก้านใบที่หลุดลอกรอบ ๆ ลำต้นชัดเจน เปลือกค่อนข้างหนา มีลักษณะเป็นเส้นใยหยาบ ๆ สีน้ำตาล

ใบ           เป็นใบประกอบรูปนิ้วมือมีใบย่อย 7 - 8 ใบ ออกเป็นช่อหรือกระจุกแผ่ออกจากจุดเดียวกันในลักษณะเวียนเรียงบริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปรีหรือรูปแกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่มเกาะติดรวมกันที่ปลายก้านใบ แผ่นใบกว้าง 3 - 5 เซนติเมตร ยาว 15 - 30 เซนติเมตร      ผิวใบเรียบเป็นมันสีเขียว  มีจุดประสีขาวแทรกปะปนอยู่ทั่วไป ขอบใบเรียบ ก้านใบมีสีแดงบริเวณด้านบนและสีเขียวบริเวณด้านล่าง ยาว 15 - 20 เซนติเมตร                                             

ดอก            สีแดงหรือสีแสด ขนาดเล็ก ออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ ๆ แบบช่อแยก  ออกบริเวณปลายกิ่งหรือซอกใบ ยาว 15 - 30 เซนติเมตร  ช่อดอกจะออกไล่เลี่ยกับการผลิใบอ่อน ดอกมีกลิ่นเหม็นมาก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนกลีบดอกติดกันเป็นรูปถ้วยสีแสด ปลายแยกม้วนออก 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่กว้าง 2 - 3 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 12 - 14 อัน ก้านเกสรสั้นมาก เกือบมองไม่เห็น  อยู่ติดกับรังไข่                                            

ผล              แห้งแตกเป็นรูปไตหรือกระเพาะขนาดใหญ่  กว้าง 6 - 8 เซนติเมตร ยาว 8 - 10 เซนติเมตร เปลือกแข็ง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่จะเป็นสีน้ำตาลแดง หรือแดงผิวค่อนข้างเรียบ แบ่งออกเป็น 2 ซีก ให้เห็นชัดเจน ปลายผลมีติ่งแหลมออกเป็นพวงห้อยย้อยลงมา ผลแห้งเปลือกแข็งเหมือนไม้ สีน้ำตาล แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ตามร่องรอยประสาน                                            

เมล็ด          รูปทรงกระบอกกลม สีเทาอมชมพู  มีเปลือกบางๆหุ้ม  ติดอยู่ตามริมขอบด้านในของผล  ที่ร่องรอยประสาน  ผลหนึ่งจะมีเมล็ดจำนวน 12 - 13 เมล็ด  กว้าง 0.3 เซนติเมตร ยาว 1.5 – 2.0 เซนติเมตร เมล็ดแก่สีดำเป็นมัน                                            

ประโยชน์                  เนื้อไม้อ่อนไสกบและตกแต่งได้ง่าย   เหมาะสำหรับนำมาใช้ทำเครื่องเรือน หีบใส่ของ รองเท้า หูกทอผ้า ไม้จิ้มฟัน ก้านและกลักไม้ขีดไฟ ไม้อัด   เปลือกใช้ทำเชือกอย่างหยาบ ๆ เมล็ดมีน้ำมัน นำมาปรุงอาหาร และจุดไฟได้ ส่วนประโยชน์ทางการแพทย์ เปลือกมีรสฝาดเล็กน้อย  ขับเสมหะ  แก้บิด ผลเป็นยาสมานท้อง แก้ท้องร่วง น้ำด่างจากเปลือกผลเป็นยารักษาโรคไต   ใบรับประทานเป็นยาระบาย

สำโรงเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่และมีความสูงมาก  เนื้อไม้อ่อน หักได้ง่ายเมื่อถูกกระแสลมแรง ๆ ดอกมีกลิ่นเหม็น ดังนั้นไม่ควรนำมาปลูกไว้ใกล้บริเวณบ้านพักอาศัย

รวบรวมเรียบเรียงและถ่ายภาพโดย รองศาสตราจารย์ ชนะ    วันหนุน