ยางพารา

Picture
ชื่อไทย                    ยางพารา

ชื่ออื่น ๆ                   กะเต๊าะห์, ยาง

ชื่อสามัญ                Para  Rubber

ชื่อวิทยาศาสตร์     Hevea  Brasiliensis (Willd. ex A. Juss.)  Muell. Arg

วงศ์                          EUPHORBIACEAE

นิเวศวิทยา              ถิ่นกำเนิด ประเทศบราซิล และประเทศแถบลุ่มน้ำอเมซอน  ประเทศไทยพบได้ทั่วไปในภาคใต้  ภาคตะวันออก  และบางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การขยายพันธุ์        เมล็ด   และการติดตา                                            

ลักษณะทั่วไป           เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร  ผลัดใบ  เรือนยอดรูปไข่ ค่อนข้างกลมหรือรูปกรวย หรือทรงกระบอก ทรงพุ่มไม่แน่นทึบ  เนื้อไม้อ่อน         ลำต้นเปลาตรง  มีน้ำยางข้นคล้ายน้ำนม  เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีความชื้นพอเพียง  เป็นไม้โตเร็วและเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
                                            
เปลือก       ต้นอ่อนหรือขณะที่เป็นต้นกล้าสีเขียวอ่อน  ผิวเรียบเป็นมันลอกออกง่าย  ต้นที่มีอายุมากจะมีสีเทาอ่อนเทาดำหรือน้ำตาล  เรียบไม่แตกสะเก็ด  แต่จะพบไลเคนเจริญเติบโตเกาะติดอยู่ที่เปลือกเป็นดวงกลมๆ อยู่ทั่วไป

ใบ           เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ  ออกเรียงเวียนสลับ  มีใบย่อย 3 ใบ รูปไข่กลับแกมขอบขนานหรือรูปรี กว้าง 2.5-5.5 เซนติเมตร  ยาว 8-15  เซนติเมตร  ปลายใบเรียวแหลม  โคนใบสอบแคบ  ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย  แผ่นใบเรียบเกลี้ยงสีเขียวเข้ม ก้านใบประกอบยาว 10-18 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว  0.5-1.5  เซนติเมตร  ใบอ่อนแตกเป็นชั้น ๆ เรียกว่า  “ฉัตรใบ”

ดอก        สีเหลืองอ่อนขนาดเล็ก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง  ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง  ช่อดอกยาว 15-30 เซนติเมตร  เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ  แต่อยู่ในต้นเดียวกัน  กลีบดอกติดกันเป็นรูปกรวยหรือรูประฆัง  ปลายแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ  ดอกบานเต็มที่กว้าง 0.5-1.0  เซนติเมตร
                                           
ผล              เป็นผลแห้งแบบแคปซูล  กลม  แบน  หรือทรงกระบอก  แบ่งออกเป็น 3 พู  กว้าง 5-7 เซนติเมตร  ยาว 5-6  เซนติเมตร  แต่ละพูมีเมล็ด 1 เมล็ด  ผลอ่อนสีเขียว  เมื่อแก่สีน้ำตาลอมเทา  และแตกออก  เปลือกแข็งและหนาเมล็ด      ทรงกลมหรือทรงกระบอก  กว้าง 1.5-2.0  เซนติเมตร  ยาว  2.5-3.0  เซนติเมตร ขั้วและปลายบุ๋มเล็กน้อย  เปลือกหุ้มเมล็ดมีลวดลายสีน้ำตาลปนเทาอ่อน  แข็งเรียบเป็นมัน  คล้ายเมล็ดละหุ่งแต่มีขนาดใหญ่กว่า                                            ประโยชน์                  เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน  และผลิตภัณฑ์ไม้  เช่น โต๊ะ เก้าอี้  เครื่องใช้  กรอบรูป     รูปแกะสลัก  ไม้แปรรูป  ของเล่น  ปาร์เก้ปูพื้น  ทำฟืนและถ่าน  ทำเยื่อกระดาษ  น้ำยางสดจากต้น นำไปแปรรูปเป็นน้ำยางข้น  ยางแห้ง  ยางแผ่นดิบ  ยางรมควัน  และยางเครพ  เพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์และอื่น ๆ  ใบแก่นำไปต้มกับด่างให้เหลือแต่โครงร่างของเส้นใบ  นำไปทำดอกไม้ประดิษฐ์และของชำร่วยต่าง ๆ 
ชาวพื้นเมืองในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เรียกยางพาราว่า  คาอุท์ชุค (Caouthoue)  ซึ่งมีความหมายว่าต้นไม้ร้องไห้  และพบว่ายางของต้นไม้ชนิดนี้สามารถลบรอยดินสอได้  จึงเรียกว่ายางลบ (Rubber)  ต่อมานิยมปลูกยางกันมากขึ้น  และได้มีการพัฒนาพันธุ์ยาง  ตลอดจนมีศูนย์กลางซื้อขายยางอยู่ที่เมืองพารา (Para)  บนฝั่งแม่น้ำอเมซอน  ในประเทศบราซิล จึงให้ชื่อยางว่า  “Para  Rubber”

ยางพารานำเข้ามาปลูกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2442 – 2444 ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี เจ้าของสวนยางคนแรกของประเทศไทยคือ พระยาสกลสถานพิทักษ์

รวบรวมเรียบเรียงและถ่ายภาพโดย รองศาสตราจารย์ ชนะ    วันหนุน