มะรุม

Picture
ชื่อไทย                       มะรุม            
                                                     
ชื่ออื่นๆ                     ผักเนื้อไก่  มะค้อนก้อม  ผักอีฮึม  ผักอีฮุม  กาแน้งเดิง     
ชื่อสามัญ                     Horse  Radish  Tree              
                        
ชื่อวิทยาศาสตร์      Moringa  oleifera  Lam.          
                    
วงศ์                              MORINGACEAE                                
          
นิเวศวิทยา                  ถิ่นกำเนิดอินเดีย                     
                      
การขยายพันธุ์            เมล็ด

ลักษณะทั่วไป       เป็นไม้ต้นขนาดกลาง  สูง 3-15  เมตร ผลัดใบ  เยือนยอดรูปไข่หรือรูปทรงกระบอก  ทรงพุ่มโปร่ง  ลำต้นตรง  เป็นไม้เนื้ออ่อน  เจริญเติบโตเร็ว  ปลูกง่าย  สามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิดทนแล้งแต่ไม่ชอบพื้นดินที่มีน้ำขังหรือแฉะ  ออกดอกและผลตลอดปีเปลือก                   สีเทาอมขาว  ค่อนข้างเรียบ  แตกเป็นร่องเล็กตื้นๆ ตามทางยาวของลำต้น  เนื้อในเปลือกสีเขียว

ใบ                           เป็นใบประกอบแบบขนนกสามชั้น  ออกเรียงสลับถี่โดยเฉพาะบริเวณปลายกิ่ง  ก้านใบยาว 20 – 25  เซนติเมตร  โคนก้านใบบวม  ก้านใบย่อยและใบย่อยออกเรียงตรงข้าม  ช่อใบย่อยประกอบด้วยใบ 7 – 11 ใบ  ปลายคี่  ใบย่อยมีขนาดเล็กรูปขอบขนาน  รูปไข่  หรือรูปไข่กลับ  กว้าง  0.7 – 1.5  เซนติเมตร  ยาว  1.0 – 2.5  เซนติเมตร  ปลายใบกลมมน  โคนใบมน  บางใบทั้งปลายใบและโคนใบเบี้ยวเล็กน้อย  ก้านใบย่อยยาว 0.2 – 0.3  เซนติเมตร  แผ่นใบบางหลังใบสีเขียวเข้ม  ท้องใบสีอ่อนกว่าและมีขนสั้นๆ   

ดอก                        สีขาวนวล  ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง  ดอกตูมมีลักษณะคล้ายดอกถั่ว ดอกบานกลีบดอกและกลีบเลี้ยงจะบานไม่เป็นระเบียบ  กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยสีเขียว  ปลายกลีบแยกออกเป็น 5 กลีบ  สีขาวนวล  กว้าง 0.2 – 0.3 เซนติเมตร  ยาว  1.5 – 2.0 เซนติเมตร รูปขอบขนาน  ปลายมน  ขอบกลีบบิดม้วนเล็กน้อย  กลีบดอก 5 กลีบ  แยกออกจากกัน โคนกลีบแคบ และค่อยแผ่ขยายกว้างออกเป็นแผ่นบาง  กว้าง 0.3 – 0.6 เซนติเมตร  ยาว 1 – 2  เซนติเมตร  ปลายกลีบสอบแคบมน  สีขาวนวล  มีเกสรเพศผู้  5  อัน  ก้านดอกยาว 2.0 – 2.5  เซนติเมตร  ดอกบานเต็มที่กว้าง  3 - 4  เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี
ผล                          เป็นฝักแบบมีเนื้อ  กลมยาวเป็นเหลี่ยมพูหรือคลื่นตื้นๆตามทางยาวของฝัก  และโป่งพองคล้ายฝักถั่ว โคนและปลายฝักเรียวแหลม  ยาว  20 - 35  เซนติเมตร  ฝักอ่อนสีเขียว   เมื่อแก่และแห้งสีน้ำตาล  ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก

เมล็ด                      กลม  สีน้ำตาลเข้มเปลือกแข็ง  กว้าง  0.6 – 0.8  เซนติเมตร  มีสันนูน  3  สัน  คล้ายรูปสามเหลี่ยม  แต่ละสันมีแผ่นเยื่อแห้งบางๆ กว้าง 0.3 – 0.4  เซนติเมตร  เป็นปีกล้อมรอบ

ประโยชน์              ส่วนประกอบทุกส่วนของมะรุมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางอาหารและสมุนไพร  เช่น  ผลหรือฝัก  นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารโดยเฉพาะแกงส้มฝักมะรุม  ดับพิษร้อน  ถอนพิษไข้  เมล็ด แก้ไข้  ตำพอกอาการปวดตามข้อ  แก้บวม  สามารถคั้นเอาน้ำมัน Behen  oil  ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์แทนน้ำมันถั่วได้  เปลือกต้นมีรสเฝื่อน  ใช้ขับลมในลำไส้  แก้ฝี  แก้พยาธิ  แก้หอบหืด  แก้แน่นจุกเสียด  ใบมีรสเฝื่อน  ใช้รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน  ต้มกับน้ำดื่มบำรุงหัวใจ  ขับพยาธิ  ตำพอกรักษาบาดแผล  ใช้ห้ามเลือด  ดอกมีรสจืด  ใช้ขับปัสสาวะ  และบำรุงกำลัง  รากมีรสเผ็ดหวาน  ใช้กระตุ้นหัวใจ  บำรุงหัวใจ  เนื่องจากมีสารแอลคาลอยด์  2  ชนิด คือ  Moringinine  และ  Moringine  แก้อาการบวม  เนื้อไม้ใช้ทำฟืน  ถ่าน  และด้ามเครื่องมือ


รวบรวมเรียบเรียงและถ่ายภาพโดย รองศาสตราจารย์ ชนะ    วันหนุน