Picture
ชื่อไทย                    ทองกวาว

ชื่ออื่น ๆ                   ก๋าว  จอมทอง  จ้า  จอม  ทองธรรมชาติ  ทองต้น จาน กวาว

ชื่อสามัญ                Flame of the Forest, Bastard Teak

ชื่อวิทยาศาสตร์     Butea  monosperma   (Lam.) Taub.

วงศ์                          LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE

นิเวศวิทยา              ถิ่นกำเนิด หมู่เกาะอินเดียตะวันตก ประเทศไทยพบได้ทั่วไปในบริเวณพื้นที่ราบลุ่ม  ป่าไม้ผลัดใบ ป่าละเมาะ และทุ่งนาที่แห้งแล้ง พบมากทางภาคเหนือ  ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ และกระจัดกระจายตามภาคต่าง ๆ ยกเว้นภาคใต้

การขยายพันธุ์        เมล็ด
ลักษณะทั่วไป       ทองกวาวเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่  สูง 8 - 20 เมตร เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ ทรงพุ่มทึบปานกลาง ผลัดใบ เจริญเติบโตช้ามากเนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็ง เวลาออกดอกใบจะร่วงหมด ดอกสะพรั่งเต็มต้น เป็นไม้ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งทนลมและสภาพดินเค็ม ถ้าปลูกในที่ชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำจะไม่ค่อยออกดอก ปลูกจากเมล็ดจะออกดอกเมื่อมีอายุ  8 - 10 ปี โคนลำต้นมีลักษณะเป็นพูพอนเล็กน้อย ลำต้นมักจะบิดงอไม่ตั้งตรง กิ่งก้านจะแตกออกไม่เป็นระเบียบบิดโค้งและห้อยย้อยลงมา  ลำต้นเมื่อมีอายุมาก ๆ มักจะเป็นโพรงกลวง

                                           
เปลือก       สีเทาคล้ำแตกเป็นร่องตื้น ๆ ทั้งตามทางยาวและตามขวาง เมื่อแก่มีสีเทาคล้ำ จากนั้นจะแตกเป็นสะเก็ดหลุดลอกออก และเปลือกใหม่จะขึ้นมาแทนที่

                                          
ใบ               เป็นใบประกอบแบบขนนก มี 3 ใบย่อยคล้ายใบถั่ว ออกสลับ  ก้านใบ   ยาว 25 - 30 เซนติเมตร โคนก้านใบบวม  ใบยอดรูปไข่กลับปลายมน  โคนสอบ  ส่วนอีก 2 ใบ ออกตรงกันข้ามรูปไข่ค่อนข้างกว้างโคนใบเบี้ยว เส้นกลางใบนูนชัดเจน ขอบใบเรียบ ใบกว้าง 10 - 18 เซนติเมตร ยาว  15 - 20 เซนติเมตร

                                         
ดอก            มีสีเหลืองแสดหรือสีส้ม ดอกเดี่ยว คล้ายดอกถั่ว หรือดอกทองหลาง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันมีขนสีน้ำตาลเข้ม กลีบดอก 5 กลีบ ยาว 5-7 เซนติเมตร ปลายแหลมมน โค้งบิดงอ มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ยาว 6 - 8 เซนติเมตร  โค้งบิดงอเช่นเดียวกับกลีบดอก ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง จะออกดอกในระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน

                                           
ผล              เป็นฝักแห้ง สีน้ำตาลอมเหลือง  มีขนนุ่ม  รูปขอบขนาน แบนบาง สันหนา โค้งงอเล็กน้อย กว้าง 3 - 4 เซนติเมตร  ยาว 12 - 15 เซนติเมตร มีเมล็ดอยู่ภายใน

เมล็ด           ติดอยู่ที่ปลายฝัก รูปร่างเป็นแผ่นแบนบาง สีน้ำตาลคล้ายรูปไต กว้าง 1.0-1.2 เซนติเมตร  ยาว 1.5-2.0 เซนติเมตร ฝักหนึ่งมีเมล็ด 1 - 2 เมล็ด

                                             
ประโยชน์                              เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือนและเครื่องมือการเกษตร  เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบาและหดตัวมาก  เปลือกใช้ทำเชือกและกระดาษ   ดอกใช้ย้อมผ้า  ขับปัสสาวะถอนพิษไข้   เมล็ดบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำมะนาวทาแก้คันและแสบร้อน ใบตำพอกฝีและสิว ถอนพิษ แก้ปวด รากใช้ประคบบริเวณที่เป็นตะคริวได้มีการทดลองพบว่าเปลือกมีสารฮอร์โมนคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีคุณสมบัติทางเภสัช

                                                                
ในประเทศอินเดียเรียกต้นทองกวาวว่า “KAMARKAS” มีความหมายว่า กล้ามเนื้อหลังที่แข็งแรงและยืดหยุ่น เพราะสมัยก่อนผู้หญิงอินเดีย มักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังและในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือหลังการคลอดบุตร จึงใช้ทองกวาวเป็นยาช่วยบำบัดและบำรุงร่างกาย และช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายจากอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะกระดูกเชิงกรานและกล้ามเนื้อให้กระชับมีรูปร่างดังเดิมหลังการคลอดบุตร นอกจากนั้นยังใช้บำรุงผิวพรรณและเพิ่มความงดงามเปล่งปลั่งของร่างกายอีกด้วย

                                                               ทองกวาวเป็นต้นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีกลางแจ้งในดินทุกสภาพ โดยเฉพาะดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ต้องการน้ำน้อยไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงเหมาะสำหรับปลูกประดับสถานที่

รวบรวมเรียบเรียงและถ่ายภาพโดย รองศาสตราจารย์ ชนะ    วันหนุน