Picture
ชื่อไทย                    ตีนเป็ดน้ำ

ชื่ออื่น ๆ                   ตีนเป็ด   ตุม  สั่งลา  มะตะกอ ตีนเป็ดทะเล

ชื่อสามัญ                Pong Pong

ชื่อวิทยาศาสตร์     Cerbera  odollam  Gaertn

วงศ์                          APOCYNACEAE

นิเวศวิทยา              ถิ่นกำเนิดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  อินเดีย  ไทย  ประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามชายทะเล  ป่าชายเลน   ริมแม่น้ำลำคลอง  ป่าชายหาด  หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำกร่อย

การขยายพันธุ์        เมล็ด
                                            
ลักษณะทั่วไป           เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก  สูง 4 - 8 เมตร  ไม่ผลัดใบเรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่  ทรงพุ่มแน่นทึบ  ลำต้นจะแตกกิ่งก้านต่ำในระยะ 1.0 - 1.5 เมตร
                                            
เปลือก       เปลือกนอกเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ สีเทา  มีรอยแผลด่างดำ  และร่องหายใจยาว ๆ อยู่ทั่วไป  เนื้อในเปลือกสีเหลืองอ่อน  มีน้ำยางสีขาว  และมีร่องรอยของกิ่งก้านที่หลุดร่วงปรากฏเป็นตุ่มตาอยู่ทั่วไป
                                           
ใบ               เป็นใบเดี่ยว  เรียงเวียนสลับรอบกิ่ง  จะมีหนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง  แผ่นใบรูปใบหอกแกมรูปไข่  ปลายใบมีติ่งแหลมมน โคนใบรูปลิ่มสอบแคบเข้าหาก้านใบ  เส้นแขนงใบปรากฏชัดเจนออกตั้งฉากกับเส้นกลางใบและออกเยื้องตรงกันข้ามเกือบทุกคู่  เส้นใบย่อยเป็นร่างแหถี่ที่ริมขอบใบ   ผิวใบเกลี้ยง ขอบใบเรียบ   ใบกว้าง 4 - 6 เซนติเมตร  ยาว 2.0 – 2.5  เซนติเมตร    ก้านใบยาว 2.5 – 3.0  เซนติเมตร  เป็นร่อง  กลางร่องมีสีชมพูอมน้ำตาล  ใบอ่อนสีเขียวแกมเหลือง  ใบแก่สีเขียวเข้ม   และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก่อนร่วงหล่น  ออกดอกตลอดปี
                                            
ดอก            สีขาว   ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงตามปลายกิ่ง  ช่อละ 8 - 14 ดอก  กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน  ปลายแยกออกเป็น  5  แฉก  กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปากแตร  ยาว 1.5 – 2.0  เซนติเมตร  ปลายหลอดแยกแผ่ออกเป็น  5  กลีบ  กลีบดอกแต่ละกลีบจะบิดเวียนเกยทับกันเล็กน้อยจากซ้ายไปขวา   ลักษณะกลีบดอกจะแยกออกจากโคนปากแตรแล้วแผ่กว้างออก  ปลายกลีบดอกสอบเข้าหากันเป็นหลายแหลม  โคนกลีบดอกหรือบริเวณปากแตรสีเหลือง  ดอกบานเต็มที่ กว้าง 5 - 7 เซนติเมตร  ดอกตูมรูปหอกแคบ ๆ
                                            
ผล              เป็นผลมีเนื้อค่อนข้างกลมหรือรูปไข่หรือรีเล็กน้อย   แบ่งออกเป็น  2  พูตื้น ๆ  อุ้มน้ำ  ผิวเป็นมันเรียบสีเขียวหรือเขียวอมม่วง  มีจุดประสีขาว  ปรากฏอยู่ทั่วไป  เมื่อแก่จัดเป็นสีม่วงเข้ม    กว้าง 5 - 6  เซนติเมตร  ยาว 6 - 8  เซนติเมตร  ผลลอยน้ำ
                                           
เมล็ด          แข็งมีน้ำหนักเบา  เปลือกเมล็ดหนาและสานกันเป็นเส้นเหมือนตาข่าย หุ้มเนื้อในเมล็ดไว้   ลักษณะเป็น  2  พูตื้น ๆ  เช่นเดียวกับผล  เมื่อแก่มีสีน้ำตาลเทา  เบา  ลอยน้ำ
                                            
ประโยชน์                  รากมีรสเฝื่อนช่วยขับเสมหะ      เปลือกเป็นยาถ่าย   ทำให้อาเจียน  แก้ไข้  แก้หวัด     แก้หลอดลมอักเสบ       สมานลำไส้      ใบแก้ไข้หวัด   ฆ่าพยาธิ  แก้กลากเกลื้อน  ดอกแก้ริดสีดวงทวาร   ผลแก้ผมหงอก  ระงับอาการปวด  เป็นยาระบาย     เมล็ดใช้เบื่อปลา   มีฤทธิ์ต่อหัวใจ   น้ำมันจากเมล็ดแก้หิด  เหา  เป็นยาฆ่าแมลง  ยางจากต้นทำให้อาเจียน
                                                                
ตีนเป็ดน้ำเป็นพืชที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา  กระตุ้นหัวใจ   ต้านเชื้อแบคทีเรีย  ต้านมะเร็ง  แก้ปวด  เสริมฤทธิ์ยานอนหลับ  พบว่าเมื่อฉีดสารสะกัดจากใบเข้าไปในหนูทดลองในปริมาณมากทำให้หนูตายได้  จัดเป็นพืชที่มีโทษอย่างร้ายแรงถ้ารับประทานเข้าไปมาก ๆ อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ 
                                                                  
เนื่องจากตีนเป็ดน้ำเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก  มีทรงพุ่มสวยงาม  ดอกสีขาวเด่นผลกลมสีเขียวสวย   ให้ร่มเงาได้ดี  กินพื้นที่ปลูกน้อย  จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวนสาธารณะ  สนามเด็กเล่น  หรือริมถนนทางเดิน
รวบรวมเรียบเรียงและถ่ายภาพโดย รองศาสตราจารย์ ชนะ    วันหนุน