Picture
ชื่อไทย                       จามจุรี

ชื่ออื่น ๆ                      ก้ามปู   ฉำฉา   กิมบี๊   ก้ามกุ้ง   สารสา   สำสา  ลัง   ตุ๊ดตู่ ชื่อสามัญ     Rain Tree , Monkey Pot , East Indian Walnut

ชื่อวิทยาศาสตร์        Samanea saman (Jacq.)Merr.

วงศ์                             LEGUMINOSAE - MIMOSOIDEAE

นิเวศวิทยา                 ถิ่นกำเนิดอเมริกาเขตร้อน  บราซิล  นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่

การขยายพันธุ์           เมล็ด

ลักษณะทั่วไป       เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15 - 20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดรูปร่ม แผ่กิ่งก้านกว้างโค้งนูนตรงกลางและลาดลงด้านข้างคล้ายร่ม แตกกิ่งก้านในระยะต่ำ กิ่งก้านขนาดใหญ่ ทรงพุ่มทึบ อาจจะแผ่กว้างถึง 30 เมตร โคนต้นเป็นพูพอนเล็กน้อย เป็นไม้โตเร็ว เนื้อไม้อ่อนมีลวดลายสวยงาม  แก่นสีดำ

เปลือก        สีเทาดำ หนา ขรุขระแตกเป็นสะเก็ดขนาดเล็กใหญ่ไม่เป็นระเบียบระหว่างร่องเปลือกที่แตก จะมีสีขาวขุ่นนุ่มคล้ายไม้ก๊อก  เนื้อในเปลือกสีชมพู หรือน้ำตาลอ่อน

ใบ       ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ก้านใบยาว 10 - 18 เซนติเมตร โคนก้านใบบวม  ก้านใบประกอบยาว 5 - 15 เซนติเมตร ออกตรงกันข้าม  มีใบย่อย 4 - 6 คู่ ออกตรงกันข้าม ใบย่อยที่ปลายก้านใบจะมีขนาดใหญ่ที่สุด และลดหลั่นลงไปจนถึงใบย่อยที่โคนก้านใบจะมีขนาดเล็กที่สุด ใบย่อยรูปใข่ รูปรี หรือขอบขนาน  บางใบคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายใบมนเบี้ยว ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านหลังใบเรียบสีเขียวเข้ม ด้านท้องใบมีขนอ่อนๆ นุ่มปกคลุม ก้านใบและใบอ่อนมีขนนุ่มปกคลุมทั่วไป

ดอก       สีชมพู ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งขึ้น ก้านช่อดอกยาว 3 - 7 เซนติเมตร มีดอกจำนวนมาก ดอกวงนอกของช่อดอกมีขนาดเล็กกว่าดอกวงใน ดอกกลางช่อจะมีขนาดใหญ่ที่สุด กลีบเลี้ยงสีเขียวแกมชมพูติดกันเป็นหลอดยาว 0.4 - 0.6 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 6 - 8 แฉก มีขนอ่อนๆปกคลุม  กลีบดอกสีขาวอมชมพูโคนติดกันเป็นรูปปากแตรปลายแยกออกเป็น 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ที่มีก้านชูเกสรสีชมพูยาว 4 - 6 เซนติเมตร จำนวนมากอยู่กลางดอก ดอกบานเต็มที่กว้าง 4 - 5 เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี  แต่ดอกจะดกในเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์

ผล       เป็นฝักรูปขอบขนานบิดโค้งเล็กน้อย กว้าง 1.5 - 2.5 เซนติเมตร ยาว 15 - 18 เซนติเมตร ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาล โป่งและคอดเป็นตอนๆ ตามตำแหน่งเมล็ด ภายในฝักมีเนื้อนุ่มเหนียว และเมล็ดจำนวนมาก

เมล็ด     สีน้ำตาลเข้มเปลือกแข็ง รูปไข่หรือกลมกว้าง 0.4 - 0.6 เซนติเมตร ยาว 0.8 – 1.0 เซนติเมตร ในหนึ่งฝักมีเมล็ด 15 - 20 เมล็ด

ประโยชน์          จามจุรีเป็นต้นไม้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกๆ ส่วน เช่น ลำต้นใช้เลี้ยงครั่ง  เนื้อไม้ใช้แกะสลัก ทำแผ่นไม้กระดาน ลังไม้บรรจุสินค้า (เนื้อไม้มีกำลังดัดงอสูง)  ทำเครื่องเรือน ทำฟืนและถ่าน ฝักใช้เป็นอาหารสัตว์  ใบแก่ที่ร่วงหล่นนำไปหมักให้ผุเปื่อย แล้วนำมาผสมกับดินใช้ปลูกต้นไม้ ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีมาก ใบสดใช้แก้ปวดแสบปวดร้อน เมล็ดแก้โรคผิวหนัง รากจามจุรีมีจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่สามารถเพิ่มแร่ธาตุอาหารประเภทธาตุไนโตรเจนให้แก่ดินได้ ทั้งต้นของจามจุรีมีสารแอลคาลอยด์ ชื่อ พิชทิโคโลไบด์ ที่มีพิษเป็นยาสลบ

เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาแผ่กว้างได้ดีมาก เหมาะที่จะปลูกประดับไว้ในพื้นที่กว้างๆ เช่น สนามโรงเรียน วัด  สวนสาธารณะหรือริมถนนทางเดิน จามจุรีมีศัตรูพืชที่สำคัญคือหนอนเจาะลำต้น ถ้าเข้าทำลายมากๆ จะทำให้ลำต้นเป็นรูและผุพังตายในที่สุด

รวบรวมเรียบเรียงและถ่ายภาพโดย รองศาสตราจารย์ ชนะ    วันหนุน