Picture
ชื่อไทย                    จันทน์กระพ้อ

ชื่ออื่น ๆ                   จันทน์กะพ้อ   เขี้ยวงูเขา  จันทน์พ้อ  จันพอ

ชื่อสามัญ                Resak

ชื่อวิทยาศาสตร์     Vatica  diospyroides   Symington

วงศ์                          DIPTEROCARPACEAE

นิเวศวิทยา              พบได้ทั่วไปในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ของไทย

การขยายพันธุ์        เมล็ด

ลักษณะทั่วไป     ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง  สูง 5 - 15 เมตร  ไม่ผลัดใบ  เรือนยอดเป็นพุ่มกลมรูปไข่หรือแผ่กว้าง  ทรงพุ่มค่อนข้างทึบ  ลำต้นตรง  แตกกิ่งต่ำ   กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง  ดอกมีกลิ่นหอมแรง  เจริญเติบโตช้า  เป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ชอบแสงแดดจัดและแห้งแล้ง

เปลือก       เปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ และแตกสะเก็ดสีน้ำตาลอมเทา หรือสีเทาคล้ำ

ใบ               ใบเดี่ยว  ออกเวียนเรียงสลับ  รูปใบหอก  หรือรูปขอบขนาน  กว้าง 5 - 8 เซนติเมตร  ยาว 15 - 30 เซนติเมตร  ปลายใบเรียวแหลม  โคนใบสอบแคบ  ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย  แผ่นใบเป็นคลื่นสีเขียวเข้มค่อนข้างหนา  ก้านใบคดงอ  ยาว 1.5 – 2.0 เซนติเมตร

ดอก            สีเหลืองอ่อนหรือเหลืองนวล  ขนาดเล็ก   กลิ่นหอมแรง  ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะตามซอกใบบริเวณกิ่งและปลายกิ่ง  กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย  มีขนสีน้ำตาลปกคลุม ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก  กลีบดอกมี 5 กลีบ  เวียนเรียงกันเป็นรูปกังหัน  กว้าง 0.3 - 0.4 เซนติเมตร  ยาว 1 - 2 เซนติเมตร  ดอกบานเต็มที่กว้าง 2.0 - 2.5 เซนติเมตร  ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม

ผล              ผลแห้งรูปทรงกลมปลายเรียวแหลมคล้ายรูปสามเหลี่ยม  มีขนสีน้ำตาลปกคลุม  เปลือกแข็ง  ผลแก่แตกอ้าออกเป็น 3 เสี่ยง  ภายในผลมี 1 เมล็ด

เมล็ด          รูปทรงคล้าย ๆ ผล  ทรงกลมปลายแหลม ขนาดเล็ก  เปลือกแข็ง

ประโยชน์  เนื้อไม้แก้ลมวิงเวียน  ขับลม  ขับเสมหะ  ดอกมีกลิ่นหอมแรง คนโบราณนิยมนำดอกไปเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า  เพื่ออบให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอม 

บริเวณที่ปลูก           สวนมิตรสัมพันธ์

จันทน์กระพ้อ เป็นต้นไม้ที่ไม่ชอบแสงแดดจ้า  และพื้นที่แห้งแล้ง  ดังนั้นควรเลือกปลูกในบริเวณพื้นที่ที่มีร่มเงา  และพื้นที่ค่อนข้างชื้นอยู่ตลอดเวลา

รวบรวมเรียบเรียงและถ่ายภาพโดย รองศาสตราจารย์ ชนะ    วันหนุน