กระพี้จั่น

Picture
กระพี้จั่น

ชื่อไทย                    กระพี้จั่น

ชื่ออื่น ๆ                   จั่น    ปี้จั่น ปี๊จั่น  พี้จั่น

ชื่อสามัญ                -

ชื่อวิทยาศาสตร์     Millettia   brandisiana   Kurz

วงศ์                          LEGUMINOSAE

นิเวศวิทยา              ถิ่นกำเนิดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ประเทศไทยพบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณแล้ง  ป่าเต็งรังในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ยกเว้นภาคใต้

การขยายพันธุ์        เมล็ด  

ลักษณะทั่วไป           เป็นไม้ต้นขนาดกลางสูง  8 - 20  เมตร   ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่เร็วมาก     เรือนยอดรูปไข่หรือกลม   ทรงพุ่มแน่นทึบ  เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลือง    เสี้ยนหยาบ  ทนต่อสภาพความ แห้งแล้งได้ดี  แต่ไม่ทนต่อสภาพพื้นดินที่ชื้นแฉะ

เปลือก       เปลือกสีเทาอ่อน หรือเทาอมน้ำตาล เรียบหรือแตกปริเป็นร่องและสะเก็ดเล็ก ๆ หลุดล่อนเป็นชิ้นเล็ก ๆ

ใบ               ใบประกอบแบบขนนก  ปลายคี่  ออกเรียงเวียนสลับ  ใบย่อยเรียงตรงกันข้าม 6 - 10  คู่  ก้านใบยาว 5 - 7 เซนติเมตร  โคนก้านใบบวม  ใบย่อยรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก  กว้าง 1.5 - 2.2  เซนติเมตร  ปลายแหลมทู่  โคนใบมนเบี้ยวเล็กน้อย  ขอบใบเรียบ  แผ่นใบด้านบนหรือหลังใบสีเขียวเข้ม  ด้านล่างหรือท้องใบสีจางกว่า  เส้นแขนงใบแตกไม่เป็นระเบียบ  ก้านใบและก้านใบย่อยมีขนอ่อนสั้นปกคลุม  ใบอ่อนหรือยอดอ่อนสีน้ำตาลอมแดงมีขนปกคลุม  

ดอก            ดอกสีม่วงแกมขาวหรือสีชมพูอมม่วง  ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง  ตามซอกใบบริเวณกิ่งและปลายกิ่ง  ลักษณะช่อแขนงค่อนข้างโปร่ง  แต่ละช่อมีดอก 15-20 ดอก ดอกตูมสีน้ำตาลเข้มหรือม่วงดำ  กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆังสีม่วงดำมีขนอ่อนปกคลุม  ยาว 0.4-0.5 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก  กลีบดอกสีม่วงแกมขาวหรือสีชมพูอมม่วง  ลักษณะกลีบดอกเหมือนดอกถั่วมี 5 กลีบ 4 กลีบมีรูปร่างยาวรีรูปขอบขนาน  กว้าง 0.3-0.5 เซนติเมตร ยาว 1.0-1.5 เซนติเมตร และอีก 1 กลีบมีรูปร่างกลมบิดม้วน กว้าง 1.5 เซนติเมตร ยาว 1.8-2.0 เซนติเมตร ดอกบานเต็มที่  กว้าง 1.5-2.0 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน

ผล              เป็นฝักแห้งแตก  ลักษณะแบนรูปขอบขนานปลายแหลม  ขอบฝักเป็นสันหนาและแข็ง เปลือกหนา  ส่วนปลายและกลางกว้างกว่าส่วนโคนฝัก        ฝักอ่อนสีเขียว  เมื่อแก่มีสีน้ำตาลอมเหลือง  และสีน้ำตาลดำผิวเกลี้ยงเป็นมันคล้ายแผ่นหนัง  เมื่อแก่เต็มที่จะแตกออกภายในฝักมีเมล็ด 3-5 เมล็ด

เมล็ด          สีน้ำตาลดำ  ทรงกลมแบนเปลือกแข็ง     และหนา  กว้าง 0.8-1.0 เซนติเมตร 

ประโยชน์    เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง  ทำด้ามเครื่องมือ แกะสลัก  ทำดินสอ และเยื่อกระดาษ  ใบอ่อนรับประทานได้
รวบรวมเรียบเรียงและถ่ายภาพโดย รองศาสตราจารย์ ชนะ    วันหนุน